ความดีที่ไม่สิ้นสุด คือ การอุทิศอวัยวะเมื่อยามสิ้นสูญ
(ข้อมูลจากแบบฟอร์มบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย)
มีคนจำนวนไม่น้อย ที่ต้องการทำบุญครั้งยิ่งใหญ่ในชีวิตสักครั้ง โดยกำลังมองหาโอกาสพิเศษนั้นอยู่และใครจะรู้? ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน
เราเชื่อว่า.. ไม่มีใครคคาดเดาเหตุการณ์ในอนาคตได้ เพราะความแน่นอนบางทีอาจจะเป็นความไม่แน่นอน วันหนึ่งข้างหน้าคุณอาจจะเป็นผู้แสดงความขอบคุณในการรับอวัยวะเพื่อต่อชีวิตของคุณเองหรือผู้ใกล้ชิด หรือคุณอาจจะเป็นผู้ให้อวัยวะ เพื่อช่วยต่อเติมความหวังให้กับคนอื่นๆ แต่น้ำใจจากการเสียสละในวันนี้ จะสามารถสร้างรอยยิ้มที่สดใสและรับคำขอบคุณจากคนอีกมากมาย ด้วยการอุทิศอวัยวะเมื่อยามสิ้นสูญเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะเพียงตั้งใจอยากจะให้ ก็เป็นสุขใจเหลือคณานับ
การบริจาคอวัยวะ
คือ การให้อวัยวะของผู้เสียชีวิตไปแล้ว ในกรณีนี้ คือ ผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะสมองตาย ให้แก่ผู้อื่นที่รอรับบริคอยู่ โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น และไม่เจาะจงผู้รับ เพื่อนำอวัยวะไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยที่อวัยวะเสื่อมสภาพและไม่สามารถรักษาด้วยวิธีอื่นได้ อวัยวะที่บริจาคจะมีประโยชน์ เป็นคุณต่อผู้ป่วยที่รอรับบริจาคให้เขาเหล่านั้นมีชีวิตต่อไป
การปลูกถ่ายอวัยวะ
คือ การผ่าตัดนำอวัยวะใหม่เปลี่ยนแทนอวัยวะเดิม ที่เสื่อสภาพ จนไม่สามารถทำหน้าที่ต่อไปได้ และการผ่าตัดนั้นจะเป็นการช่วยชีวิตผู้ป่วยในระยะสุดท้ายให้เขามีชีวิตอยู่ ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อประโยชน์ต่อครอบครัวของเขาและสังคมต่อไป
สมองตาย
คือ ภาวะที่สมองถูกทำลายจนสูญเสียการทำงานโดยสิ้นเชิงและถาวร ถึงแม้จะกระตุ้นด้วยวิธีใดๆ ก็จะไม่ตอบสนอง ไม่มีการไอ จาม ไม่สามารถหายใจได้เอง ซึ่งถือได้ว่าผู้นั้นเสียชีวิตแล้ว
การที่อวัยวะของผู้ป่วยสมองตายยังทำงานอยู่ได้ เนื่องจากการใส่เครื่องช่วยหายใจไว้ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจน หัวใจ ก็สามารถสูบฉีดเลือดได้ โดยอาจจะต้องได้รับยากระตุ้นหัวใจร่วมด้วย ผู้เสียชีวิตสมองตายที่ได้รับการดูแลอยู่ในโรงพยาบาลและการทำงานของอวัยวะได้แก่ หัวใจ ปอด ตับ ตับอ่อน ไต ฯลฯ อยู่ในสภาพเหมาะสม อาจจะสามารถบริจาคอวัยวะเพ่อช่วยเหลือผู้อื่นได้
การแจ้งกรณีมีผู้เสียชีวิตจากภาวะสมองตาย
ญาติผู้บริจาคหรือเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่ผู้บริจาคเข้ารับการรักษา สามารถติดต่อศูนย์ฯ ได้ทาง โทร 1666 ผ่านระบบโทรศัพท์ตอบรับอัตโนมัติตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อศูนย์ฯ จะประเมินว่าผู้เสียชีวิตเหมาะสมจะเป็นผู้บริจาคอวัยวะหรือไม่ และขอความเห็นจากญาติในการบริจาคอวัยวะ กรณีญาติไม่เห็นด้วยหรือไม่ลงนามยินยอมบริจาคอวัยวะ ถือเป็นการยกเลิกการบริจาค
อวัยวะที่ได้ จะนำไปให้ใคร
ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ จะจัดสรรอวัยวะที่ได้รับบริจาคอย่างเป็นธรรม เสมอภาคกัน และเป็นไปตามหลักวิชาการ โดยมีคณะอนุกรรมการวิชาการซึ่งเป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากสถาบันการแพทย์ต่างๆ เป็นผู้ดูแล โดยมีเกณฑ์ดังนี้
1.จัดสรรอวัยวะให้แก่ผู้ป่วยที่รอรับ หัวใจ ปอด ตับ ที่มีอาการหนักมาก ซึ่งหากไม่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะภายใน 3 วัน จะเสียชีวิต ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะได้รับการจัดสรรอวัยวะให้ก่อน
2.หากไม่มีผู้ป่วยอาการหนัก จะจัดสรรตามลำดับของโรงพยาบาลสมาชิ ส่วนการจัดสรรไต ซึ่งมี 2 ข้าง จะจัดสรรไต 1 ข้าง ให้กับผู้รอรับไตทั้งหมดที่ลงทะเบียนไว้กับศูนย์ฯ โดยเลือกจากผู้ที่มีคะแนนรวมสูงสุดจากการให้คะแนนในเรื่องการเข้ากันได้ของเนื้อเยื่อของผู้ให้กับผู้รับภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อ ระยะเวลาในการรอ อายุ ส่วนไตอีกข้างหนึ่ง จัดสรรให้กับผู้ป่วยทีรอรับไตอยู่ในโรงพยาบาลสมาชิกที่เป็นทีมผ่าตัดนำอวัยวะออก โดยใช้เกณฑ์จากคะแนนรวมสูงสุดเช่นเดียวกัน ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ จะรายงานผลการจัดสรรอวัยวะจากผู้บริจาคทุกราย ให้คณะอนุกรรมการวิชาการทราบทุก 3 เดือน
กลัวว่าจะไม่เหลือร่างกายไว้ให้ญาติบำเพ็ญกุศล
การบริจาคอวัยวะนั้น แพทย์จะทำการผ่าตัดนำอวัยวะภายในที่ใช้ประโยชน์ได้และเท่าที่อนุญาต โดยใช้เวลาประมาณ 2-4 ชั่วโมง จากนั้นจะมอบร่างให้ญาติ เพื่อนำไปบำเพ็ญกุศลทางศาสนาต่อไป
กลัวชาติหน้า อวัยวะไม่ครบหรือพิการ
เรื่องนี้เป็นเรื่องของความเชื่อถือส่วนบุคคล แต่หลักความเป็นจริง คนเราเกิดมามีส่วนประกอบหลักที่สำคัญ 2 ส่วน คือร่างกายและจิตใจ หรือจิตวิญญาณ เมื่อตายไปร่างกายย่อมสลายไปตามกาลเวลา ในส่วนของวิญญาณขึ้นอยู่กับความเชื่อของแต่ละศาสนา บางศาสนาก็เชื่อว่าวิญญาณจะสลายไปด้วย แต่บางศาสนาก็เชื่อว่ายังอยู่รอการเกิดใหม่ การเกิดใหม่ก็ย่อมมีร่างใหม่ อวัยวะใหม่อย่างแน่นอน คงไม่มีใครเกิดมาพร้อมกับอวัยวะที่เคยใช้เมื่อชาติที่แล้ว และหากชาตินี้ทำบุญไว้มาก ผลบุญที่ได้รับก็จะทำให้จิตวิญญาณเราผ่องใส ส่งผลให้เกิดชาติหน้ามีอวัยวะที่สมบูรณ์แข็งแรง
กลัวการซื้อ-ขายอวัยวะ
เมื่อมีการบริจาคอวัยวะ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ จะจัดสรรอวัยวะเหล่านั้นให้กับผู้ป่วยที่ลงทะเบียนรอรับอวัยวะในโรงพยาบาลสมาชิกศูนย์ฯ ทั่วประเทศด้วยความเป็นธรรมเสมอภาค และปฏิบัติตามเกณฑ์การจัดสรรอวัยวะทุกประการ ซึ่งจะต้องมีรายงานผลการจัดสรรอวัยวะจากผู้บริจาคทุกรายแก่คณะอนุกรรมการวิชาการ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะทุก 3 เดือน
สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากการได้รับอวัยวะแต่อย่างใด และไม่มีการจ่ายเงินค่าตอบแทนแก่ญาติผู้บริจาคอวัยวะ ค่าใช้จ่ายในการบริจาคอวัยวะ เช่น ค่ายา น้ำยาถนอมอวัยวะ ค่าผ่าตัดนำอวัยวะออกจากร่างกายผู้บริจาค ฯลฯ ศูนย์รับบริจาคอวัยวะ ได้รับการสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ ที่ร่วมกันบริจาคเงิน เพื่อการดำเนินงานของศูนย์ฯ
การบริจาคอวัยวะกับการบริจาคร่างกาย ต่างกันอย่างไร
การบริจาคอวัยวะเป็นการนำอวัยวะภายในบางส่วน เช่น หัวใจ ตับ ปอด ไต ไปเปลี่ยนให้กับผู้ป่วยที่อวัยวะเสื่อมสภาพ ส่วนการบริจาคร่างกาย เป็นการอุทิศทั้งร่างกายเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ศึกษาส่วนต่างๆ ของอวัยวะในร่างกายมนุษย์
การบริจาคอวัยวะต้องเสียชีวิตจากสมองตายเท่านั้น ส่วนการบริจาคร่างกายจะต้องเสียชีวิตจากสาเหตุธรรมชาติ การบริจาคอวัยวะสามารถแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะได้ที่ โทร 1666 ศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ ถ.อังรีดูนังต์ เหล่ากาชาดจังหวัดทุกแห่ง ส่วนการบริจาคร่างกายติดต่อได้เฉพาะที่คณะแพทยศาสตร์ทุกแห่ง
ผู้ที่แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะพร้อมกับได้อุทิศร่างกายไว้ด้วยนั้น เมื่อเสียชีวิตแล้วจะมีการพิจารณาว่าเหมาะสมที่จะบริจาคอวัยวะหรืออุทิศร่างกาย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามเจตนารมณ์ของผู้บริจาค
เจ้าหญิงนิทราสามารถบริจาคอวัยวะได้หรือไม่
ผู้ที่อยู่ในสภาพเจ้าหญิงนิทรา เป็นสภาพที่สมองสูญเสียการรับรู้ ความเข้าใจ ไม่ตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมแต่สามารถหลับตา ลืมตาได้เอง แต่ไม่มีความหมายใดๆ ยังมีช่วงหลับตื่นตามเดิมแต่ไม่รับรู้ ไม่ทราบว่าทำอะไรลงไป เนื่องจากสมองใหญ่(Cerebrum) สูญเสียความสามารถในการทำงานไป โดยที่ก้านสมอง (Brian stem) ยังพอทำงานได้ ทำให้ยังสามารถหายใจหรือไอได้เอง บางครั้งก็ลืมตาได้เองเมื่อถูกกระตุ้นให้เจ็บ แต่ไม่สามารถทำตามสั่งได้ อาจจะอยู่ได้เป็นเดือน เป็นปี กระทั่งเสียชีวิต
ดังนั้นผู้ที่อยู๋ในสภาพเจ้าหญิงนิทราจึงไม่ถือว่าตาย ไม่สามารถบริจาคอวัยวะได้ เว้นแต่ว่าผู้นั้นเกิดภาวะสมองตายขึ้น และอวัยวะอยู่ในสภาพที่เหมาะสม ก็สามารถบริจาคอวัยวะได้
แสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ ต้องตรวจร่างกายหรือไม่
การแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ เป็นการบอกเจตนาของบุคคลนั้นไว้เท่านั้น การตรวจร่างกายจะกระทำต่อเมื่อผู้นั้นอยู่ในภาวะสมองตายแล้ว เพื่อประเมินสภาพการทำงานของอวัยวะ ว่าเหมาะสมสำหรับนำไปปลูกถ่ายให้แก่ผู้อื่นหรือไม่
สายด่วนศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ 1666
เป็นบริการข้อมูลการบริจาคอวัยวะอัตโนมัติ ทางโทรศัพท์และโทรสารตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ โดยกดรหัสข้อมูลที่ต้องการทราบหรือกด 0 เพื่อติดต่อเจ้าหน้าที่ (ในเวลาราชการ)
หากต้องการบริจาคอวัยวะหรือขอรับใบแสดงความจำนงบริจาคอวัยวะ กด 2 หลังจากนั้น กด 1
หากต้องการแจ้งผู้ป่วยสมองตาบ กด 3
สำหรับท่านที่ต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับการบริจาคอวัยวะ ข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกถ่ายอวัยวะ ข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์รับบริจาคอวัยวะฯ หรือขอรับข้อมูลทางโทรสาร สามารถเรียกฟังข้อมูลบริการดังกล่าวได้ ตามขั้นตอนที่อธิบายทางโทรศัพท์
ทั้งนี้ผู้ที่มีความประสงค์จะบริจาคดวงตาและอวัยวะในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ สามารถกรอกแบบฟอร์มได้ที่ กาชาดจังหวัดภูเก็ต โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต และโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต(โดยติดต่อพี่จุ๋มหรือจุ๊บๆ โทร 1719 ต่อ 1284 หรือ 2297 ค่ะ)