3.3.53

บริจาคดวงตาและอวัยวะ จ.ภูเก็ต

เมื่อไม่กี่วันก่อน ทางโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต ได้รับหนังสือจากสภากาชาดไทย เรื่องขอติดโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์โครงการ Let Them See Love เพื่อรณรงค์การบริจาคอวัยวะและดวงตาให้สาธารณชนเกิดความรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการบริจาคอวัยวะ โดยในปีนี้มีเหล่าศิลปินให้เกียรติสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอวัยวะในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิด "การให้เป็นสิ่งสวยงาม : The Beauty of Giving" ซึ่งได้นำผลงานดังกล่าวมาจัดพิมพ์เป็นโปสเตอร์เพื่อใช้ในการประชาสัมพันธ์ด้วย

คลิกดูรายละเอียดเพิ่มเติม >> http://www.helplink.net/letthemseelove/

โปสเตอร์ 2 ใบ เขียนบรรยายไว้ตัวบะเร่งเท่งว่า
"การให้..เป็นสิ่งสวยงาม"
ทุกการให้ไม่เคยสูญเปล่า การบริจาคอวัยวะ 1 ร่างกาย สามารถต่อชีวิตใหม่ได้อีกหลายชีวิต
ในปัจจุบัน มีผู้ป่วยรอรับการปลูกถ่ายอวัยวะและดวงตาถึง 8,303 คน ..
แบ่งเป็น ไต 2,258 คน หัวใจ 23 คน ปอด 15 คน ตับ 173 คน และดวงตา 5,834 คน
แต่มีเพียง 689 คนเท่านั้น ที่ได้รับการบริจาคอวัยวะในปี 2552
อันตัวจุ๊บ จุ๊บเอง ก็ยื่นเรื่องขอบริจาคอวัยวะและดวงตาไปแล้ว(แต่ยังไม่ตายเลย) หลังจากเจรจากับทางบ้าน ซึ่งก็ยังยอมบ้างไม่ยอมบ้างอยู่ แต่เป็นเพราะหม่ามี๊โอเคและเป็นผู้เซ็นยินยอมให้ ก็เลยได้ส่งเรื่องไปแสดงเจตจำนง(เมื่อนานมาแล้ว) ในอนาคตหากจุ๊บ จุ๊บ เสียชีวิต ด้วยภาวะสมองตาย ก็สามารถนำเอา 2 ตา 1 หัวใจ 1 ปอด 1 ตับ 2 ไต ไปใช้กับผู้ที่รอรับบริจาค ณ ขณะนั้นได้(ในกรณีที่ญาติของจุ๊บ จุ๊บยินยอม) ซึ่งทุกสิ่งอย่างที่ได้ไป ก็จะได้เป็นประโยชน์ไปช่วยต่อลมหายใจให้ใครอีกหลายคนได้อีก แต่หากเสียชีวิตด้วยกรณีอื่น ก็สามารถรับตาทั้ง 2 ข้างไปได้ค่ะ
พี่จุ๋มบอกว่า เวลามีคนบริจาคอวัยวะให้แต่ละครั้งนั้น(ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ) สามารถนำไปช่วยชีวิตชาวไทยได้ครั้งละหลายราย อย่างเช่นชาวฝรั่งเศส(คนล่าสุด) สามารถนำไปช่วยชีวิตคนไทยได้ตั้ง 5 รายเลยค่ะ ส่วนหัวใจที่มีระยะเวลาเพียงแค่ 2 ชม.นั้น พี่จุ๋มบอกว่าถ้าในขณะนั้นไม่มีผู้ป่วยรอเปลี่ยนอยู่ หรือเลือดไม่เข้ากัน ทีมแพทย์ก็จะเก็บลิ้นหัวใจแช่ไนโตเจนเหลวเอาไว้ใช้ได้อีกในอนาคตค่ะ ..

หลายครั้งที่เจตจำนงของผู้บริจาคอวัยวะและดวงตาไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากความเศร้าเสียใจของญาติในขณะนั้น ซึ่งกำลังสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก จึงเป็นการยากที่จะอนุญาตให้ทีมแพทย์ผ่าตัดนำส่วนใดส่วนหนึ่งออกไปจากร่างกาย อีกทั้งในสังคมไทยยังมีการความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้น้อยมาก ทำให้การบริจาคอวัยวะไม่เป็นที่ยอมรับกันเท่าที่ควร แต่ถ้านับกันจริงๆ ผู้ป่วยสมองตายในทางการแพทย์นั้น ก็เปรียบเสมือนผู้ที่เสียชีวิตแล้วนั่นเอง ซึ่งก่อนที่แพทย์จะลงความเห็นว่า "สมองตาย" นั้น ต้องมีการตรวจเช็คกันหลายครั้ง หลายวิธี และจะต้องใช้แพทย์ยืนยันลงความเห็นมากกว่า 1 ท่านด้วย การตัดสินใจปุบปับว่าคนนั้นคนนี้สมองตายเพื่อจะได้ขออวัยวะไปช่วยคนอื่นนั้น มันไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ ส่วนการเจรจาขอรับบริจาคกับญาติของผู้ป่วยสมองตายนั้น ก็จะต้องได้รับความยินยอมจากทุกฝ่าย หากมีการคัดค้านจากญาติคนใดคนหนึ่ง ทีมแพทย์ก็ไม่สามารถผ่าตัดเอาอวัยวะไปได้เช่นกัน
ส่วนอวัยวะทั้งหมดที่จุ๊บ จุ๊บ กล่าวไปข้างต้น ทั้ง 2 ตา 1 หัวใจ 1 ปอด 1 ตับ กับ 2 ไต นั้น จะรับได้จากผู้ป่วยสมองตายเท่านั้น เพราะฉะนั้นหากกรอกรายละเอียดแจ้งความจำนงในเอกสาร ก็ต้องกรอกทั้ง 2 ใบ(บริจาคดวงตา+บริจาคอวัยวะ) เพราะถ้าเราเสียชีวิตด้วยเหตุอื่น(ไม่ใช่สมองตาย) ทีมแพทย์ก็จะสามารถเอาดวงตาทั้ง 2 ข้างของเราไปใช้กับผู้ป่วยที่รอรับบริจาคได้ค่ะ สำหรับเรื่องที่หลายท่านยังสับสนอยู่ระหว่าง บริจาคร่างกายกับบริจาคอวัยวะนั้นก็แตกต่างกันนะจ๊ะ ถ้าเรียก "บริจาคร่างกาย" นั่นหมายถึงการบริจาคเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ศึกษาเรียนรู้ค่ะ

และนับว่าเป็นข่าวดีของผู้ป่วยโรคกระจกตาที่มีภูมิลำเนาเป็นชาวภูเก็ต พังงา และกระบี่ ที่ไม่ต้องไปเข้าคิวรอเปลี่ยนกระจกตากว่า 5,000 คน ที่กรุงเทพฯ เพราะจากการที่โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตได้เจรจาขอรับบริจาคดวงตาจากญาติผู้เสียชีวิต 4 ราย และผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาไปแล้ว 2 ตา จึงทำให้มีโควต้าเหลืออีก 6 ตา ซึ่งสามารถผ่าตัดให้แก่ผู้ป่วยที่แพทย์วินิจฉัยว่าจะจะมีอาการดีขึ้นเมื่อได้รับการเปลี่ยนกระจกตา โดยพญ.เขมวรรณ เวทยไวกูณฐ์ แพทย์ประจำโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต (ชาวภูเก็ตแท้ๆ แถมใจดีด้วย) สามารถวินิจฉัย และผ่าตัดให้กับผู้ป่วยได้ทันที โดยไม่ต้องเข้าคิวยาวๆ หรือเดินทางไปไกลถึงเมืองบางกอก ส่วนค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดก็เทียบเท่าโรงพยาบาลของรัฐ คือประมาณ 22,000 - 25,000 บาท ค่ะ
-----------------------------------------------

โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตได้รับการแต่งตั้งจากสภากาชาดไทยให้เป็นสาขาบริการดวงตา ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้านเครื่องมือและจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตา อีกทั้งทางโรงพยาบาลฯ ยังยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยโรคกระจกตาในเขตพื้นที่รับผิดชอบให้ได้รับการผ่าตัดรักษา โดยไม่ต้องเข้าคิวที่สภากาชาดไทย ซึ่งมีผู้ป่วยรอรับการผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตามากกว่า 5,000 ราย(จากสถิติล่าสุด 5,834 ราย) ทำให้บางรายต้องรอนาน 3-4 ปี โดยผู้ป่วยโรคกระจกตาที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดภูเก็ต พังงา และกระบี่ สามารถลงทะเบียนเพื่อเปลี่ยนกระจกตาได้ที่โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตโดยตรง โดยเสียค่าใช้จ่ายในราคาใกล้เคียงกับโรงพยาบาลของรัฐ(ประมาณ 22,000 - 25,000 บาท) ซึ่งเป็นความตั้งใจของโรงพยาบาลฯ ที่จะมีส่วนช่วยเหลือผู้ป่วยโรคกระจกตาให้กลับมองเห็นและสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพในสังคม


นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลฯ ยังเป็นศูนย์กลางในการประสานงานกับสภากาชาดไทยในการรับบริจาคดวงตาและอวัยวะ เพื่อจะได้นำดวงตาและอวัยวะเหล่านั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น โดยโรงพยาบาลได้เปลี่ยนกระจกตาให้ผู้ป่วยไปแล้ว 2 ราย และได้ขอเจรจาจากญาติผู้ป่วยสมองตาย จนได้รับบริจาคอวัยวะและดวงตาจากผู้ป่วย 4 ราย (เป็นชาวไทย ชาวสเปน ชาวออสเตรเลีย และชาวฝรั่งเศส) ซึ่งสามารถนำไปช่วยผู้ป่วยที่กำลังรอรับความช่วยเหลือได้อีกหลายท่าน


ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคกระจกตาที่ต้องการผ่าตัดรักษาหรือผู้สนใจสมัครเป็นผู้บริจาคดวงตา สามารถติดต่อได้ที่สาขาบริการดวงตาศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย จังหวัดภูเก็ต ณ ศูนย์ตา ชั้น 2 โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณปารียา จุลพงษ์ (พี่จุ๋ม) ผู้จัดการฝ่ายกิจสาธารณะโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต โทร 1719 ต่อ 1284
-----------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น