11.3.53

เปิดตัวในวันสิ่งแวดล้อมโลก ปี 2552

เดือนมิถุนายน 2552

จากข่าวการล่าและการลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วของพะยูน สัตว์ป่าสงวนหายากในจำนวน 15 ชนิด ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ทำให้เราอยากรู้วิถีชีวิตของเจ้าพะยูนและครอบครัว อยากรู้ว่าในแถบอันดามันของเรา ยังคงพบเห็นพะยูนบ้างรึเปล่า?


ความสงสัยได้พาให้เราเดินทางไปพบกับอาจารย์มานะ สามเมือง ที่โรงเรียนวีรสตรีอนุสรณ์ ในช่วงก่อนวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน 2552 พวกเราได้มีโอกาสไปพูดคุยเพื่อขอข้อมูลความรู้ เรื่องพะยูนและหญ้าทะเลแหล่งอาหารหลักของครอบครัวพะยูน ซึ่งอาจารย์มานะและกลุ่มเยาวชนรักษ์บ้านเราได้ทำการสำรวจมาแล้วระยะหนึ่ง



อาจารย์มานะทำงานจริงจัง และยังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติร่วมกับชาวบ้านบริเวณ ป่าคลอก ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็ง ชาวบ้านทุกคนมีความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและพร้อมที่จะร่วมอนุรักษ์ธรรมชาติให้ยังคงอยู่อย่างสมบูรณ์ การเดินทางไปพบอาจารย์มานะครั้งนี้ ทำให้เราทราบว่า ล่าสุดชาวบ้านยังคงพบพะยูนมากินหญ้าทะเลแถบป่าคลอกบ้าง แต่มีเหลือไม่มาก และคาดว่าน่าจะมีประมาณ 2 ตัวเท่านั้น


เรายังได้มีโอกาสพบลุงต๋อยผู้ใจดี หรือ ลุงจุรุณ ราชพล รองประธานกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติบ้านป่าคลอก ในวันที่ไปตะลุยโคลนเพื่อขอตัวอย่างหญ้าทะเล เอามาใส่ขวดไปจัดนิทรรศการวันสิ่งแวดล้อมโลกร่วมกับกลุ่มประชาคมพิทักษ์สิ่งแวดล้อมภูเก็ตเมื่อวันที่ 5-6 มิถุนายน 2552 เราลุยโคลนกันไปเพียงลำพัง ได้ตัวอย่างหญ้าชะเงาเต่า หรือหญ้าเต่า ของโปรดของพะยูนมาจำนวนหนึ่ง แถมมีหญ้าใบมะกรูด และหญ้าคาทะเลด้วย



หลายแง่มุมที่ได้ยินจากปากคำของลุงต๋อย ทั้งผลกระทบต่างๆ ตั้งแต่ธุรกิจท่องเที่ยวที่เจริญขึ้น การบุกรุกแนวหญ้าทะเล การถมทะเล ล้วนแต่เป็นการบั่นทอนและทำลายทรัพยากรอันมีค่าทั้งสิ้น


วันสิ่งแวดล้อมปี 2552 ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตจึงจัดบอร์ดนิทรรศการพร้อมกับเอาตัวอย่างหญ้าทะเลไปให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปดู ได้รับเกียรติจากนายวรพจน์ รัฐสีมา รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เข้าเยี่ยมชมบอร์ดนิทรรศการและตัวอย่างหญ้าทะเล ในกิจกรรมวันนั้นด้วย

อย่างน้อยแล้ว การเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ให้ทุกคนได้รู้จัก และเรียนรู้ ก็นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี เพราะถึงแม้ในวันนี้ เราจะไม่สามารถเพิ่มจำนวนพะยูนหรือหญ้าทะเลให้มากขึ้นได้ในทันที แต่หากทุกคนให้ความสำคัญ รู้รักและตระหนักถึงทรัพยากรอันมีค่า และช่วยกันหวงแหนอนุรักษ์ไว้ พวกเราเชื่อมั่นว่า สิ่งต่างๆ ก็จะยังคงอยู่ให้ลูกหลานได้เห็น ได้ศึกษาเรียนรู้ต่อไป ไม่ใช่เหลือไว้เพียงแค่ข้อมูลในกระดาษและภาพถ่ายเท่านั้น


พวกเราชาวโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต พร้อมแล้วที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการอนุรักษ์แหล่งหญ้าทะเล เพราะเราเชื่อว่าเมื่อมีแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ และมีพื้นที่ให้เจ้าพะยูน สัตว์น้ำที่เลี้ยงลูกด้วยนมอยู่อย่างสงบ ครอบครัวพะยูนในแถบทะเลอันดามันจะค่อยๆ ทะยอยหอบลูกหอบหลานเข้ามากบดานกันมากขึ้นตามไปด้วย แถมยังเป็นการช่วยฟื้นฟูระบบนิเวศหญ้าทะเลให้กลับอุดมสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง งานนี้ จึงมีแต่ได้กับได้เจ้าค่า..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น