10.5.53

พะยูน พูลสุข_จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ

กรุงเทพธุรกิจ ~ จุดประกาย ฉบับวันพุธที่ 5 พ.ค. 53 เรื่อง พะยูน พูนสุข หลังจากพี่สมสกุล เผ่าจินดามุข บินตรงจากกรุงเทพฯ มาร่วมลุยโคลนกับเราเมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา เรื่องราวเหล่านี้จึงปรากฏแก่สายตาประชาชี
เมื่อไม่ได้นั่งเทียนเขียน สิ่งต่างๆ ที่บอกเล่า จึงกลั่นกรองออกมาจาก 1 สมอง 2 ตา และ 1 ใจ :)

ประมวลภาพ : http://picasaweb.google.com/jubjub.picc/41953#


"อยากให้คนหันมาเห่อพะยูน เหมือนเห่อแพนด้าบ้าง" นักวิชาการประมงคนหนึ่งเปรยออกมา ขณะที่สถานการณ์สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมตัวนี้ ดีขึ้นมานิดหน่อยอย่างน้อยก็ที่...ไข่มุกอันดามัน

คนภูเก็ตแบ่งเวลาพิเศษกว่าคนจังหวัดอื่น อย่างเวลาสนทนาถึงทะเลและสิ่งแวดล้อมกับชาวบ้านป่าคลอก อ.ถลาง พวกเขามักแบ่งเวลาออกเป็นสองช่วง คือ ก่อนสึนามิ และหลังสึนามิ "ก่อนสึนามิหญ้าทะเลเยอะมาก พอสึนามิมาหญ้าก็หายไปหมด" ป้าน้อย พยานปากเอกที่รู้เห็นท้องทะเลแถวบ้านมาตั้งแต่เกิด พูดกระมิดกระเมี้ยนไม่เต็มปาก เพราะเพิ่งใส่ฟันชุดที่สามจึงยังไม่คุ้นชิน

ชายหาดน้ำตื้นหน้าโรงเรียนวีรสตรีอนุสรณ์และบ้านป่าคลอก หญ้าทะเลเขียวแกว่งไกวอย่างอ่อนโยนใต้พื้นน้ำเค็ม มันเป็นระบบนิเวศวิทยาหญ้าทะเลที่สัตว์น้ำอย่าง ปูขน ปูเทศบาล หอยชักตีน หอยโป่ง ปลาทะเล ปลาโทง กุ้งขาว กุ้งตีนแดง และอีกสารพัดชนิดใช้เป็นที่ดำรงชีวิต ชวนให้นึกถึงทุ่งหญ้าสวันนาห์ในแอฟริกา ผืนทะเลหน้าหาดป่าคลอกยังเป็นแหล่งยังชีพของชาวบ้านแถบนั้นด้วย
ชาวบ้านคนหนึ่งยกข้องให้ดูปลาตัวอวบขาวยาวสักฝ่ามือทำตาแป๋วแหววนอนเบียดกันอยู่ในข้อง มันคือปลากระบอก ที่ขายกันกิโลกรัมละ 60 บาท วันไหนจับได้ปลาทรายที่ขายกันกิโลกรัมละ 100 บาท ถือว่าพวกเขาโชคดีแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชายหาดได้หญ้าทะเลกลับคืนมาแล้ว
หญ้าทะเลหน้าหาดหมู่บ้านป่าคลอกยังเป็นที่แวะเวียนของของพะยูน สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เหลือจำนวนประชากรน้อยลงทุกวัน ถึงขั้นถูกจัดให้อยู่ในบัญชีสัตว์สงวน ตามพระราชบัญญัติสัตว์สงวน พ.ศ.2535 อาหารเหลาชั้นเลิศของพวกมันคือหญ้าทะเล และเป็นพืชชนิดเดียวที่ยังชีพและเผ่าพันธุ์ของพวกมันไว้


"มาดู มาดู นี่ไงรอยพะยูนกินหญ้า" ลุงต๋อย ชาวบ้านนักอนุรักษ์ซึ่งยืนคอยอยู่นานแล้วตะโกนเรียกให้มาดูร่องรอยของหญ้าทะเลที่หายไปเป็นทาง ยืนยันว่าพะยูนยังคงแวะเวียนแอบมาหาอาหารอยู่เสมอ พะยูนใช้ปากของมันดูดหญ้าทะเลจนชาวบ้านเรียกพวกมันว่า หมูน้ำ หรือหมูดูด จากพฤติกรรมการกินที่คล้ายหมู ดูจากร่องรอยการกินแล้วลุงต๋อยสวมบทนักสืบเชอร์ล็อค โฮมส์ บอกว่าน่าจะมีสัก 3 ตัว เป็นพ่อ แม่ และลูก เนื่องจากบางรอยมีขนาดเล็ก ปี 2535 ลุงต๋อย และอาสาสมัครชาวบ้านกลุ่มหนึ่งรวมกลุ่มกันเป็นชมรมนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ช่วยดูแลสอดส่องสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้านไม่ว่าจะเป็นป่าบนบก หรือสินในน้ำ หากพบเห็นกลุ่มคนฉกฉวยประโยชน์ตัดโค่นถางป่า หรือลงอวนจับปลาชนิดไม่เลือกหน้าอินทร์หน้าพรหม อาสาสมัครชาวบ้านพร้อมปฏิบัติการต่อต้าน "เมื่อก่อนเยอะกว่านี้ แต่พอมีเครื่องมือประมง มีเรืออวนลง สัตว์น้ำหายหมด" ลูกน้ำเค็มเล่าถึงเหลือบ การทำงานของนักอนุรักษ์ชาวบ้านอาศัยการออกหาข่าวตามตลาด หากพบพ่อค้านำสัตว์สงวนมาขายตามตลาด อาสาชาวบ้านจะไปเจรจาและห้ามปราม โดยที่ผ่านมาได้รับความร่วมมืออย่างดี

-2-
ชายทะเลหน้าหาดป่าคลอกเป็นเลนนุ่มพอเหยียบจมฝ่าเท้า แต่ไม่ถึงกับมิดท่วม พื้นข้างล่างค่อนข้างแน่น เวลาเดินเท้าเปล่าควรระวังและเจริญสติไปพร้อมกับท่อง "ซ้ายย่างหนอ ขวาย่างหนอ" เพราะใต้พื้นชายเลนเป็นที่หลบซ่อนหน้าของหอยชักตีน เงี่ยงคมของมันคอยสกัดผู้บุกรุก หากบุ่มบ่ามก้าวเท้าสวบๆ ลงไปอาจต้อง "ชักตีน" ออกแทบไม่ทัน

หญ้าทะเลมีลักษณะเป็นใบเรียวยาวปลายมน ผิวออกลื่น และนุ่มมือ สัตว์น้ำหลายชนิดใช้เป็นที่คุ้มกะลาหัว หญ้าทะเลจึงเป็นแหล่งชุมนุมของปู กั้ง ปลาชนิดต่างๆ รวมถึง "หลัด" สัตว์ทะเลที่ชาวประมงเอาไว้เป็นเหยื่อตกปลา
หญ้าทะเลหรอมแหรมเริ่มเขียวชะอุ่มเป็นผลพวงจากโครงการฟื้นฟูหญ้าทะเลบ้านปากคลอกด้วยลูกบอลอีเอ็ม โดยโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตร่วมกับมูลนิธิมรรคาวาณิช ดำเนินกิจกรรมนำประโยชน์จากจุลินทรีย์มาช่วยปรับสภาพพื้นดินหน้าหาดให้อุดมสมบูรณ์

ต้นความคิดจุดประกายลูกบอลอีเอ็มพลิกผืนป่าชายฝั่งป่าคลอกให้เขียวชะอุ่มเป็นชายชาติทหารคนหนึ่งที่หัวใจเขียวขจีไม้แพ้กัน "หญ้าขึ้นหรือยัง" พล.ท.พิเชษฐ์ วิสัยจร แม่ทัพภาค 4 ลงจากเฮลิคอปเตอร์ยังไม่ทันฝุ่นสนามฟุตบอลจางจากแรงใบพัดแมงปอ ส่งเสียงถามไถ่ออกมา ระหว่างเดินตรงมาถามความคืบหน้ากับ ปารียา จุลพงษ์ ผู้จัดการฝ่ายกิจสาธารณะโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต และนนทลี มรรคาวาณิช ประธานมูลนิธิมรรคาวาณิช
หลังจากสองสาวรายงานความคืบหน้าของสถานการณ์ขาดคำ แม่ทัพภาคสี่บอกอย่างกระตือรืนร้นว่า "ไปดูกัน" เสียงย่ำเท้าของทหารพรึ่บพั่บพร้อมตรงไปหาดทราย ฝ่าอากาศกำลังสบายยามเช้าของชายทะเลภูเก็ตฝั่งตะวันออก
นอกจากดูแลความสงบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ด้ามขวานทองแล้ว แม่ทัพภาคสี่มีภารกิจพิเศษถ่ายทอดประสบการณ์นำเอา "เทคโนโลยีอีเอ็ม" มาเผยแพร่ให้กับเกษตรกรหลายพื้นที่ โดยเริ่มจากภาคอีสาน และขยายต่อมายังภาคใต้ หลังจากเข้ารับตำแหน่งเป็นแม่ทัพภาคสี่ พล.ท.พิเชษฐ์ เดินย่ำสำรวจหญ้าทะเลพลางร่วมกิจกรรมโยน "ลูกบอลอีเอ็ม" เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับพื้นดินด้วยสีหน้าแจ่มใส "มันขึ้นเยอะเลย" เขายังคงเดินลุย และกวาดตามองพื้นไม่หยุด "เมื่อก่อนยังไม่ขึ้นอย่างนี้เลย"
อีเอ็ม (Effective Microorganism) หรือเทคโนโลยีอีเอ็ม เป็นผลงานคิดค้นโดย เทรูโอ ฮิกะ นักวิชาการด้านพืชสวนจากมหาวิทยาลัย Ryukyus ของญี่ปุ่น หลังจากสังเกตความอุดมสมบูรณ์ของดินในป่าที่ทำให้ต้นไม้งอกงามโดยไม่ต้องดูแลให้ปุ๋ย ฮิกะจึงนำดินป่ามาศึกษาและพบว่ามีจุลินทรีย์อยู่หลายชนิดที่ช่วย "พลิกฟื้น" ความสมบูรณ์กลับคืนให้กับดิน แม่ทัพภาคสี่เล่าความสำเร็จมากมายจากการนำอีเอ็มไปช่วยฟื้นฟูสภาพดิน ลดภาระค่าปุ๋ยให้เกษตรกร และช่วยเพิ่มผลผลิตอย่างเห็นชัดกับตา "เมื่อก่อนคนต่อต้านผม ถามผมวิจัยมาหรือยัง ผมบอกว่าผมมีชาวบ้าน เขาทำแล้วเขาเห็นกับตา ชาวบ้านเขาไม่โง่ "
นอกจากชาวบ้านเป็นพยานแล้ว พลท.พิเชษฐ์ ยังมีพยานวัตถุภาพถ่ายอีกมากมายที่พร้อมให้ท้าพิสูจน์ ไม่ว่าจะเป็นข้าวที่ออกรวงเป็นกอบเป็นกำ ลูกมะพร้าวที่เบียดกันแน่นต้น ลูกทุเรียนที่แย่งกันขึ้นดกจนมองแทบไม่เห็นกิ่ง ทีเด็ดเรียกเสียงฮือฮาจากชาวบ้านทุกครั้งที่แม่ทัพภาคสี่ไปบรรยายสรรพคุณของอีเอ็มคือ คลิปวิดีโอโชว์ชาวบ้านกรีดยางให้เห็นกันกลางวันแสกๆ น้ำยางไหลพรากลงภาชนะรอง แม่ทัพเล่าว่า ตอนไปบรรยายให้คนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ฟัง ตอนแรกชาวบ้านทำหน้าไม่ยินดีปราศรัย แต่พอเห็นวิดีโอโชว์เด็ดน้ำยางขาวทะลักออกจากต้นยางราวกับเปิดก๊อก ใบหน้าเปลี่ยนกลับมาเป็นมิตรทันที "ผมทำให้ชาวบ้านมีอาชีพ ไม่ต้องออกหากินไกล ช่วยพวกเขาได้ก็ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น ที่ผ่านมาเราทำกันแต่เชิงรับ แต่นั้นไม่พอ เราต้องทำเชิงรุกด้วย" แม่ทัพภาคสี่บอกด้วยว่า กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นเครื่องมือให้ทหารและชาวบ้านได้คุยกัน แม่ทัพภาคสี่กับภารกิจเผยแพร่เทคโนโลยีอีเอ็มเห็นว่า มนุษย์หาประโยชน์จากธรรมชาติมาตลอด แต่ไม่เคยให้ธรรมชาติกลับไปบ้าง ตัวอย่างง่ายๆ... มนุษย์ตัดไม้ทำลายป่ามากกว่าปลูกป่า "ที่ผ่านมาเรามักรณรงค์ไม่ให้คนตัดไม้ทำลายป่า แต่ทำไมไม่พูดถึงการรักษาของเก่า" พลท.พิเชษฐ์ พูดด้วยน้ำเสียงจริงจัง มุมมองดังกล่าวเป็นแรงผลักดันให้เขาทำหน้าที่เผยแพร่และชักชวนให้ชาวบ้านทดลองบำรุงดินด้วยมือ และประจักษ์ด้วยตาตัวเองถึงประสิทธิภาพของอีเอ็ม "ผมไม่ได้บอกให้เชื่อ แต่ลองดูนะครับ" ทหารหัวใจสีเขียวเชิญชวน

-3 -
ภูเบศ จอมพล นักวิชาการประมงจากสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลและป่าชายเลนภูเก็ตฯ บอกว่า จำนวนประชากรพะยูนในประเทศไทยเหลืออยู่เพียง 200 กว่าตัวเท่านั้น สาเหตุสำคัญคือ พะยูนตกลูกน้อยมากไม่ต่างจากแพนด้า


"ธรรมชาติของพะยูนออกลูกรอบละตัวเดียวเอง ตกลูกรอบหนึ่งต้องรอไปอีก 3-5 ปี แบบเดียวกับช้างเลย" เขาบอก และเห็นด้วยว่า อยากให้คนหันมาเห่อพะยูนเหมือนเห่อแพนด้าบ้าง ภูเบศเข้ามาร่วมโครงการฯ เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของลูกบอลอีเอ็มต่อการเปลี่ยนแปลงของหญ้าทะเล ขอบเขตพื้นที่ศึกษากินอาณาเขตราว 50 ไร่ แบ่งเป็นสถานีเก็บตัวอย่าง 10 สถานี โดยซอยย่อยออกเป็น 8 สถานีที่ปรับสภาพดินด้วยลูกบอลอีเอ็ม และแปลงนอก 2 สถานี เป็น control group นอกจากนักวิชาการประมงแล้วยังมี ป้าแต๋ว ชาวบ้านอีกคนหนึ่งจะคอยเดินดูหญ้าทะเลเป็นประจำ จากคำบอกเล่า ป้าแต๋วบอกว่าหลังจากหญ้าทะเลเริ่มฟื้นตัว สัตว์น้ำก็เข้ามาอยู่อาศัยกันมากขึ้น
"เมื่อก่อนเหลือแต่ตอ ตอนนี้ดูเห็นเขียวแต่ไกล เยอะขึ้นหนาขึ้น ที่อื่นไม่ค่อยมีนะ ป้าเดินดูประจำเดินขึ้นเดินลง กุ้งขาวเยอะขึ้นจับได้วันละ 10 กิโลกรัม ปลาทรายชอบอยู่ มากินหลัด" เธอบอกว่าช่วงหน้าร้อนสัตว์น้ำยังมาไม่มาก แต่พอเข้าหน้าฝนจะมีมากันอีก และตอนนี้เริ่มมีกุ้งมีปลาชวนกันมาบ้างแล้ว ผลพลอยได้อย่างหนึ่งที่สำคัญคือ ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพ น้ำทะเลหน้าหาดป่าคลอกเริ่มขึ้นแล้วตามดวงตะวัน ลูกบอลอีเอ็มที่เตรียมมาหลายถุงจมตัวลงอยู่ใต้เลน กระบวนการฟื้นตัวตามธรรมชาติกำลังเริ่มกระบวนการ
หญ้าทะเลยังคงพริ้วไหวเหมือนกวักมือชวนพะยูนมาลิ้มรส / เรื่อง : สมสกุล เผ่าจินดามุข
ตีพิมพ์ในคอลัมน์จุดประกายหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 5 พฤษภาคม 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น