10.5.53

EM Ball ครั้งที่ 5 ก่อนพักรบ..

เที่ยงตรงของวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา เป็นเวลาที่อากาศกำลังร้อนระอุ แต่เพราะเป็นเวลาน้ำขึ้นเต็มที่ จากโพยตารางน้ำขึ้นน้ำลงเกาะตะเภาน้อย ที่เราได้ขอจากห้องสมุดสถาบันวิจัยชายฝั่งฯ มาเก็บไว้ในระยะที่ทำโครงการอนุรักษ์หญ้าทะเลและพะยูน จ.ภูเก็ต ตั้งแต่ปลายปีก่อน

การโยน EM Ball ครั้งที่ 5 นี้ นับว่าเป็นการโยนครั้งสุดท้าย เนื่องจากได้นั่งปรึกษากับลุงต๋อยและป้าแต๋ว(สมาชิกอนุรักษ์ทรัพยากรชายฝั่งทะเลบ้านป่าคลอก) ว่าในระยะ 1-2 เดือนที่ผ่านมานั้น อากาศร้อนมาก น้ำร้อน ดินร้อนจนเดินแทบไม่ได้ สัตว์น้ำต่างๆ ก็เริ่มลดลง ทางโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตและมูลนิธิมรรคาวาณิชจึงมีความเห็นตรงกันว่า ในเมื่อสภาพแวดล้อมมันแปรปรวนและยังหาสาเหตุแน่ชัดไม่ได้ เราก็ไม่ควรให้การโยน EM Ball กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไปกระทบกับสภาพอากาศที่ผันแปรไปเช่นนี้

ป้าแต๋วพูดเป็นเชิงให้กำลังใจกับพวกเราว่า "ตั้งแต่มีการโยน EM Ball หญ้าทะเลแถบนี้สวยขึ้นจริงๆ ป้ายืนยันได้ เพราะป้าอยู่ตรงนี้ทุกวัน ก็เห็นความเปลี่ยนแปลงได้ชัด ช่วงปลายปีที่เริ่มโยนใหม่ๆ มาจนถึงต้นปีหญ้าก็ยังขึ้นดี เต็มแน่นเขียวไปทั่ว เหมือนเป็นสนามหญ้า ป้าอยู่ที่นี่มานาน ก็ยังไม่เคยมีปีไหนที่หญ้าสวยและขึ้นเนียนเหมือนปีนี้เลย แต่ช่วงนี้ไม่รู้มันเป็นอะไร คงเป็นเพราะอากาศที่ร้อนมาก และการโยน EM Ball เดือนละครั้ง ก็ไม่รู้ว่าจะมากไปสำหรับการเจริญเติบโตของหญ้าทะเลรึเปล่า เหมือนเราใส่ปุ๋ยต้นไม้ เราก็ต้องเว้นระยะ และให้เวลามันบ้าง" พวกเราจึงได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการว่า ในช่วงนี้เราอาจจะหยุดกิจกรรมโยน EM Ball ไปก่อนสักระยะ แล้วค่อยมาปรึกษาป้าแต๋วและลุงต๋อยใหม่ในหน้าฝนเพื่อสานต่อโครงการ

ส่วนผลการวิจัยจากคุณภูเบศ นักวิชาการประมง ก็ส่งมาให้ทางโรงพยาบาลฯ เรียบร้อยแล้ว โดยระบุว่าการใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพกับหญ้าทะเลนั้นไม่ได้ผล เพราะเป็นทะเลเปิดและน้ำไม่นิ่ง แต่จากคำบอกเล่าของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมทะเลก็ยังเป็นข้อกังขากับผลการวิจัยที่ได้มาอยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม เมื่อได้คุยกับลุงต๋อยและป้าแต๋วเป็นที่เรียบร้อย จึงสรุปความดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น หลังจากนี้คงจะนำ EM Ball ไปใช้ในการบำบัดน้ำเสียให้มากขึ้น โดยพี่อู้(วริยา จากเทศบาลป่าตอง) กำลังยื่นเรื่องเพื่อนำ EM Ball ไปใช้ในการบำบัดน้ำเสียบริเวณแหล่งชุมชนของ ต.ป่าตอง ซึ่งน่าจะเริ่มได้ประมาณกลางปีนี้

----------------------------------

ก่อนจะพักรบ แล้วรอดูความเป็นไปของสภาพอากาศ ก็ขอเล่าถึงการโยน EM Ball เมื่อวันที่ 30 พ.ค.ที่ผ่านมาสักหน่อย เพราะในครั้งนี้เราก็มีสมาชิกใจดีอาสามาเป็นแนวร่วมในการโยน EM Ball จาก 3 ทางด้วยกัน

คนแรกเป็นฝาหรั่ง ชื่อเจสัน เคยมาเที่ยวภูเก็ตตอนเกิดเหตุสึนามิ แล้วก็เป็นแรงบันดาลใจให้เค้ากลับไปเรียนเป็นหมอ เพื่อจะได้ช่วยเหลือผู้อื่น วันนี้เค้ากลับมาเที่ยวภูเก็ตอีกครั้ง ในฐานะนักศึกษาแพทย์ที่เพิ่งจบมาหมาดๆ โดยเจสันไม่ลืมที่จะติดต่อพี่จุ๋ม เพื่อหาอะไรดีๆ ที่เป็นประโยชน์ทำในช่วงวันหยุดพักผ่อน พี่จุ๋มเลยหนีบเจสันมาโยน EM Ball กับเราด้วย

กลุ่มที่ 2 จาก อบต.กมลา ภายใต้การนำของคุณจเร รัตนะ รองปลัดอบต.กมลา ที่สนใจเข้าฟังการบรรยายจากท่านแม่ทัพภาคที่ 4 เมื่อวันที่ 19 เม.ย.ที่ผ่านมา จนเกิดแนวคิดดีๆ ที่จะนำจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพไปใช้ในงานสิ่งแวดล้อมกับพื้นที่ๆ รับผิดชอบอยู่ โดยเร็วๆ นี้ พี่จุ๋ม พี่กระแต และจุ๊บๆ มีวี่แววว่าจะต้องไปดำน้ำดูแนวปะการังจนตัวดำ เพราะคุณจเร ไฟแรงมาก และอยากมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนให้มีอยู่อย่างยั่งยืนจริงๆ

กลุ่มที่ 3 คุณภาวัต ศุภสุวรรณ คณะกรรมการชุมนุมสหกรณ์ยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย และยังมีอีกหลายตำแหน่งพ่วงท้าย ได้นำคณะมาร่วมโยน EM Ball กับพวกเรา เพราะมีความสนใจ และอยากมาเห็นกับตา ว่ามันเป็นอย่างไรน้อ? กิจกรรมโยน EM Ball เพื่อฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลเนี่ย

ก่อนกลับทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ยินดีจะมาช่วยอีก เพราะสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของคนๆ เดียว คนในชุมชนต้องช่วยกันอนุรักษ์และหวงแหนทรัพยากรที่มีค่า เพื่อลูกหลานของเราต่อไป

ถ้าความจำไม่คลาดเคลื่อน ภาพนี้น่าจะเป็นภาพแรกและภาพเดียว จากหลายๆ ครั้งที่มาป้วนเปี้ยนอยู่แถวนี้เพื่อโยน EM Ball โดยฝีมือของท่านเจสัน :)

กลับถึงโรงพยาบาลฯ ด้วยสภาพมอมแมมเหมือนเดิม มายืนสแกนนิ้วอยู่นาน(ปกติก็ยากเย็นอยู่แล้ว) แต่วันนี้ก็ยิ่งยากไปอีก หรืออาจจะเป็นเพราะเครื่องสแกนมันได้กลิ่น EM Ball หว่า? นึกว่าเป็นพะยูนเลยไม่อนุญาต haha

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอชื่นชมในการมีจรรยาบรรณนักวิจัยของคุณ คุณภูเบศ จาก PMBC มากครับที่ได้บอกกล่าวผลการศึกษาตามความเป็นจริง และอยากให้ชาวบ้านยอมรับผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ตรงนี้ด้วย
    โดยปกติแล้วหญ้าทะเลจะมีการเพิ่มลดปริมาณอยู่แล้วซึ่งแปรผันไปตามฤดูกาล ถือเป็นเรื่องปกติ เช่นในหน้ามรสุมหญ้าจะน้อยเพราะคลื่นลมทะเลแรงพัดใบหญ้าฉีกขาด หรือในหน้าร้อนหญ้าทะเลจะตากแดดในช่วงน้ำลง เป็นเวลานานก็ทำให้หญ้าทะเลแห้งตายไปได้ แต่โดยปกติหญ้าทะเลเป็นพืชที่มีความทนทานสูงเพราถึงแม้ใบจะขาดไป แต่ส่วนของลำต้นใต้ดิน เหรือเหง้าของมันจะยังอยู่ เมื่อสภาวะแวดล้อมเหมาะสมก็จะงอกใบใหม่มาได้ ดังนัน้เราควรให้ธรรมชาติเป็นผู้ฟื้นฟูตัวเองด้วยวิถีของธรรมชาติเอง การที่มนุษย์เข้าไปจัดการธรรมชาติมากเกินไปอาจจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดีครับ สิ่งที่เราควรทำก็คือไม่ทำลายแหล่งหญ้าทะเล และดูแลรักษาน้ำทิ้งต่างๆ ก่อนปล่อยลงสู่ทะเล เท่านี้หญ้าทะเลก็ไม่หายไปจากท้องทะเลภูเก็ตแล้วครับ

    ตอบลบ