5.4.53

บรรยากาศดีๆ ตอนน้ำลง :)

โครงการอนุรักษ์หญ้าทะเลและพะยูน จังหวัดภูเก็ต ที่โรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ตได้สร้างสรรค์ขึ้นเมื่อประมาณกลางปี 2552 ทำให้ในระยะ 4- 5 เดือนที่ผ่านมานี้ พี่จุ๋ม พี่กระแต และจุ๊บๆ ได้ตื่นแต่เช้ามาลุยโคลนกันบ่อยขึ้น ก็ด้วยภารกิจที่ต้องคอยดูแลและประคบประหงมเจ้าหญ้าทะเล อาหารอันโอชะของพะยูนน้อย ซึ่งก็มีจำนวนน้อยพอกันไม่ว่าจะเป็นครอบครัวพะยูนหรือหญ้าทะเล
แหล่งหญ้าทะเลบ้านป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เป็นพื้นที่นำร่องในการใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ(EM) เพื่อฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลให้เจริญงอกงามเป็นแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ของพะยูนและสัตว์น้ำนานาชนิด ทางโรงพยาบาลฯ ได้รับความร่วมมือจากคุณภูเบศ นักวิชาการประมงจากสถาบันวิจัยฯ ร่วมเก็บตัวอย่างหญ้าทะเลกับพวกเราทุกครั้ง โดยคุณภูเบศจะนำหญ้าทะเลที่เก็บได้ในแต่ละครั้ง(รวม 4 ครั้ง) ไปชั่ง ย่าง อบ หามวลของหญ้าจากขี้เถ้าที่ได้ หลังจากนั้นจะได้สรุปและประมวลผลว่า หญ้าทะเลในบริเวณที่โยนและไม่โยน EM นั้น ต่างกันอย่างไร เพื่อที่เราจะได้หาแนวทางในการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเลต่อไปในอนาคต เพราะลำพังจะฟังจากชาวบ้านริมทะเล ที่พูดเป็นเสียงเดียวกัน ว่าหญ้าปีนี้ทั้งเขียวและขึ้นเต็มทั่วพื้นที่นั้น มันไม่พอ ต้องมีผลการวิจัยทางวิชาการร่วมด้วย จึงจะสามารถใช้อ้างอิงได้จ้า..

แสงอาทิตย์ยามเช้า ค่อยๆ พ้นขอบฟ้า ทอแสงทองอร่ามฉาบทอไปทั่ว ปกคลุมให้บริเวณนั้นเงียบ สงบ และอบอุ่นดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนับเป็นการลุยโคลนเพื่อเก็บตัวอย่างหญ้าทะเลเป็นครั้งสุดท้าย(ในฤดูกาลนี้) คุณภูเบศได้หนีบเอาน้องๆ นักศึกษาฝึกงานจาก มอ.และมหิดล มาลุยโคลน กู้ Quadrant ทั้ง 10 อันกับพวกเราด้วย ในระหว่างนี้เราก็ได้แต่ รอ รอ รอ ผลจากคุณภูเบศ

ลุยหญ้าทะเลแต่ละครั้ง มักจะเจออะไร น่ารัก น่ารักเสมอ การที่เรานั่งรออยู่ที่รูปูนิ่งๆ นานๆ ทำให้ปูน้อยชะล่าใจ ผลุบเข้าผลุบออก อารมณ์ประมาณว่าโผล่ขึ้นมาเช็คแล้ว ก็ไม่เห็นมีมนุษย์ใดอยู่ใกล้บ้านเลยแม้แต่คนเดียว เมื่อพวกมันไว้ใจ บวกกับความอดทนของเรา เราก็จะได้เห็นปรากฏการณ์อันน่าทึ่ง สวยงาม ที่ทำเอาพวกเราอึ้งไปได้หลายนาทีเหมือนกัน

หญ้าทะเลสีเขียวสด ขึ้นชิดติดกันเป็นแพ ยังกะสนามกอล์ฟ ปลิงแตงกวาสีแดงแรงฤทธิ์ ที่พี่จุ๋มกรี๊ดลั่นทะเล เพราะรู้สึกหยุ่นๆ หลังจากไปจับให้มันมานอนนิ่งอยู่บนมือ กั้งตัวน้อย ที่กระเด็นขึ้นมาเป็นระยะ ปลาตีนที่กระโดดอย่างว่องไว ทำให้พวกเราเพลิดเพลินกับการเดินลุยโคลนแต่ละครั้งยิ่งนัก

วิถีชีวิตของชาวบ้านริมทะเล ที่รักและหวงแหนทรัพยากรอันมีค่าและก็รู้ถึงคุณค่าของท้องทะเลอย่างแท้จริง การจับสัตว์ทะเลตัวน้อยๆ ได้แล้วยอมปล่อยไป ด้วยเหตุผลที่ลุงต๋อยบอกพวกเราว่า "อดเปรี้ยวไว้กินหวานจะดีกว่า" เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แค่นี้ น่าจะช่วยให้ระบบนิเวศในท้องทะเลอันกว้างใหญ่นี้สมบูรณ์ได้บ้าง คนในช่วยกันดูแล หวงแหน รักษา คนนอกที่ไม่รู้ค่า ก็อย่าไปทำลายของที่เค้าหวงไว้ละกันเนาะ :)

เจอเจ้าเป้าน้อย ลอยอืด อยู่ริมทะเลด้วย ได้เห็นตัวเป็นๆ (ที่หมดลม) ในระยะประชิดเลยนะเนี่ย

เสียดายที่ภูมิแพ้กำเริบ เพราะรำน้อยบนก้อน EM Ball ทำให้ต่อมตื่นเต้นไม่ค่อยรื่นเริงเท่าไหร่

วันนั้น จึงบันทึกความทรงจำด้วยการกดชัตเตอร์ไปครั้งเดียวเพียวๆ ที่เหลือก็ จาม จาม จาม :)

-----------------------------------

19 เม.ย.นี้ กิจกรรมดีๆ จะมีขึ้นอีกหน

ทั้งร่วมชมความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศหญ้าทะเล บ้านป่าคลอก

และการบรรยายพิเศษจากท่านแม่ทัพภาคที่ 4 "การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยการใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ"

--------------------------------------------

กำหนดการ
วันจันทร์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2553
เวลา 07.45 -08.45 น.* ลุยชายหาดชมความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศหญ้าทะเลจากผลของการใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพที่ชายทะเลบ้านป่าคลอก
เวลา 09.00 -09.30 น. เดินทางกลับมาโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต
เวลา 09.30 -10.00 น. ผู้เข้าอบรมลงทะเบียน
เวลา 10.00 -10.05 น. พิธีกรกล่าวต้อนรับ พร้อมเชิญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรุงเทพภูเก็ต กล่าววัตถุประสงค์การจัดอบรม
เวลา 10.05 น. บรรยายพิเศษโดย พล.ท.ดร. พิเชษฐ์ วิสัยจร ในหัวข้อ
“การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ”
เวลา 12.00 น. จบการบรรยาย
**********

*หมายเหตุ ท่านที่สนใจสามารถเดินทางไปด้วยตัวเองเพื่อร่วมชมสภาพความเปลี่ยนแปลงของแหล่งหญ้าทะเล และดูร่องรอยการกินหญ้าของพะยูนบริเวณชายทะเลบ้านป่าคลอก(ใกล้โรงเรียนวีรสตรีอนุสรณ์ / ทางไปสถานสงเคราะห์คนชรา)ได้ในเวลา 7.45 น. โดยจะต้องลุยเลนออกไปจากฝั่งประมาณ 300 เมตร และเลนมีความลึกประมาณ 10 เซนติเมตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น